วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2551

พัดสาน

พัดสาน อำเภอบ้านแพรก พัดสาน เป็นของใช้สำหรับโบกเตาไฟของคนไทยในสมัยก่อน หรือใช้สำหรับโบกพัดร่างกายให้หายคลายจากความร้อนได้ สามารถที่จะนำติดตัวไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก วัสดุที่ใช้พัดสานเป็นผลผลิตจากพืชพรรณธรรมชาติในท้องถิ่นคือ ไม้ไผ่ การสานพัด ผู้สานนิยมสานเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ มุ่งเน้นประโยชน์การใช้งาน มีการปรับปรุงพัฒนารูปแบบให้มีความสวยงามประณีต เช่น พัดสานห้าเหลี่ยมเหมาะสำหรับโพกพัดเตาไฟ พัดยกลายดอกสานเป็นลวดลายต่าง ๆ พัดละเอียดรูปใบโพธิ์หรือรูปหัวใจ และรูปตาลปัตร พัดสานบ้านแพรกเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านอันทรงคุณค่าที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านอำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชาวอำเภอบ้านแพรกริเริ่มการสานพัดมาเป็นเวลานับ ๔๐ ปี มีการประยุกต์ปรับปรุงรูปแบบตลอดเวลา การสานพัดเป็นอาชีพเสริมทำรายได้ดีภายในครัวเรือน ชาวบ้านจะสานพัดในช่วงว่างเว้นจากการทำนา เป็นสินค้าพื้นเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวอำเภอบ้านแพรก พัดสานจึงกลายมาเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียง และได้รับการยกย่องให้เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอบ้านแพรก ดังปรากฏในคำขวัญที่ว่า “หลวงพ่อเขียว หลวงพ่อขาว หลวงพ่อเภาคู่บ้าน พัดสานคู่เมือง พิพิธภัณฑ์ลือเลื่อง รุ่งเรืองเกษตรกรรม เลิศล้ำหัตถศิลป์ ดินแดนถิ่นลิเก บ้านเกิดของหอมหวล นาคศิริ ราชาลิเกแห่งเมืองไทย”วิธีการทำพัดสาน
1. ขั้นตอนแรกคือการเลือกไม้ไผ่ที่จะนำมาสานพัด ไม้ไผ่ที่นิยมนำมาจักตอกสานพัดคือไผ่สีสุก การคัดเลือกไม้จะต้องเป็นไม้ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป เรียกว่า “ไม้มันปลากด” เนื้อไม้จะขาวเป็นมัน เมื่อนำไปย้อมสี สีจะเป็นเงาสดใส ไม้ที่ไม่นิยมนำมาสานพัดคือ ไม้อ่อน เพราะไม้อ่อนมอดจะกิน เมื่อแห้งเส้นตอกจะแตกเพราะเนื้อไม้หดตัว สำหรับไม้แก่สีของเนื้อไม้จะเป็นสีน้ำตาล เมื่อย้อมสีสีจะไม่สดใส และเนื้อไม้ที่แก่จะกรอบแตกหักง่าย ไม้ที่เป็นตามดเนื้อไม้จะดำ ผู้สานจะคัดเลือกไม้ที่มีลำสมบูรณ์ปล้องยาว ปลายลำหรือยอดไม่ด้วนเพราะ ไม้ที่ยอดหรือปลายลำด้วนเนื้อไม้จะหยาบไม่สมบูรณ์
2. การจักตอก นำไม้ที่คัดเลือกได้มาตัดเป็นท่อนด้วยเลื่อยคมละเอียด ถ้าเป็นพัดเล็กใช้ปล้องยาวประมาณ ๒๐–๓๐ เซนติเมตร และพัดใหญ่ใช้ปล้องยาวประมาณ ๓๐–๕๐ เซนติเมตร นำมาจักตอกเอาข้อไม้ออกให้หมด การจักตอกทำพัดละเอียด เส้นตอกจะต้องมีขนาดเล็ก เป็นพิเศษ มีความกว้างประมาณ ๓-๔ มิลลิเมตร ถ้าเป็นพัดธรรมดาหรือพัดหยาบขนาดเส้นตอกจะใหญ่ การจัดตอกจะต้องนำผิวและขี้ไม้ออกให้หมด ลอกตอกด้วยมีดตอก ลักษณะพิเศษของ มีดตอกเป็นมีดที่มีส่วนปลายแหลมคมด้ามยาว เวลาจักตอก ผู้จัดจะให้ด้ามมีดแนบลำตัว เพื่อบังคับให้เส้นตอกมีความบางเสมอกันตลอดทั้งเส้น การจักตอกนิยมจักครั้งละมาก ๆ นำตอกที่จักไปผึ่งลมหรือแดดให้แห้งก่อนนำไปย้อมสี
3. การย้อมสีต้องย้อมลงในภาชนะที่เตรียมไว้ และย้อมครั้งละมาก ๆ เป็นการประหยัดสี สลับสีตามต้องการ วิธีการย้อมต้องย้อมลงในน้ำเดือด จุ่มเส้นตอกให้ทั่วตลอดทั้งเส้น เมื่อย้อมแล้วนำเส้นตอกที่ย้อมไปล้างลงในน้ำเย็น เป็นการล้างสีที่ไม่ติดเนื้อไม้ออกก่อน จะเหลือเฉพาะสีที่ติดเนื้อไม้เท่านั้น นำไปผึ่งลมหรือแดดให้แห้งก่อนนำไปสานพัด
4. การสานพัดนิยมสานเป็นลวดลายต่าง ๆ ลายที่เป็นลายพื้นฐานของการสานพัดคือลายสองและลายสาม การสานพัดผู้สานจะใช้ความชำนาญและความสามารถพิเศษให้การสานยกดอกลวดลายปรับปรุงรูปแบบประยุกต์ลวดลายให้มีความสวยงามประณีต ไม่ใช่เฉพาะลายพื้นฐานเท่านั้น เช่น สานยกดอกเป็นลายเครือวัลย์ ลายดอกพิกุล ลายดอกเก้า ลายดอกจันทน์ ลายตาหมากรุก เป็นต้น
5. การตัดแบบพัดสาน เมื่อสานเป็นแผงตามต้องการ จะนำแบบหรือแม่พิมพ์ที่สร้างไว้เป็นรูปใบโพธิ์ วางทาบลงบนแผงพัดที่สานไว้ ใช้ดินสอช่างไม้ขีดตามรอยขอบของแม่พิมพ์ใช้กรรไกรชนิดตัดสังกะสีตัดตามรอยดินสอที่ขีดไว้
6. การเย็บพัดสาน นำพัดสานที่ตัดตามแบบพิมพ์มาเย็บขอบพัดด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง หรือลูกไม้สีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับพัดสาน การเย็บในสมัยก่อนใช้เย็บด้วยด้วย สมัยปัจจุบันนิยมใช้จักรเย็บผ้าเย็บเพราะสะดวกและรวดเร็วกว่าการเย็บด้วยมือ 7. การใส่ด้ามพัดสาน นำด้ามพัดที่เหลาแล้วมาเจาะด้วยสว่านมือจำนวน ๒ รู นำตัว ใบพัดมาประกอบด้ามโดยใช้ตะปูหัวกลมตอกลงตามรูที่เจาะไว้ แล้วพับปลายตะปูทั้งสอง ยึดติดให้แน่น เพื่อให้พัดสานมีความคงทนและสวยงาม ใช้น้ำมันชักเงาทาเคลือบพัดทั้งด้านหน้าและด้านหลังของตัวพัดก็จะได้พัดสานที่มีความสวยงามตามต้องการ ลักษณะเด่นของพัดสานบ้านแพรก คือ การประยุกต์รูปแบบให้มีความสวยงามประณีต เช่น สานเป็นตัวหนังสือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สานเป็นรูปลาย ๑๒ ราศี รูปเจดีย์ ๓ องค์ วัดพระศรีสรรเพชญ์ รูปพระเจ้าอู่ทอง รูปนกคู่ สานประยุกต์ลวดลายรูปแบบตามโอกาสและสถานที่ที่ต้องการ

ความรู้เรื่องภูมิปัญญท้องถิ่นเชียงใหม่

จากลำไผ่ไหวเอนส่งเสียงเอียดออดยามต้องลมแรงมาเป็นก้านร่ม และโครงร่ม กระดาษสาซื่งทำมาจากเปลือกไม้หุ้มต้น รวมกันเป็นร่มกระดาษสา ที่ซึ่งทอดเงากันแดดฝนมานานนับศตวรรษ ด้วยคุณค่าและเอกลักษณ์อันงดงาม ร่มกระดาษสาบ่อสร้างจึงเป็นมรดกแผ่นดินที่ชาวเชียงใหม่ทุกคนหวงแหนและภาคภูมิใจ
การทำร่มกระดาษสาบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง นี้มีกรรมวิธีผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อน ที่สืบทอดกันมาจากความคิดค้นสร้างสรรค์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นอันยาวนาน สืบทอดมีความเป็นมาและวิวัฒนาการจนมาเป็นร่มกระดาษสาที่เราได้เห็นในปัจจุบัน เอกลักษณ์ของร่มกระดาษสานี้ ก็คือกรรมวิธีในการผลิตต้องอาศัยความชำนาญ และฝีมืออย่างสูง อีกทั้งฝีมือในการแต่งแต้มลวดลายอันงดงามเป็นเอกลักษณ์ด้วย

"บ่อสร้างกางจ้อง" คำว่า จ้อง นี้เป็นภาษาเหนือแปลว่าร่ม ซึ่งมีการใช้จนติดปากดังเช่นในเพลงยอดนิยมของ ทอม ดันดีเลยทีเดียว "สาวน้อยกางจ้อง" นี้ก็หมายถึง สาวสวยเชียงใหม่ในชุดผ้าไหมผื้นเมือง กางร่ม ที่ปรากฎกายให้เห็นในขบวนแห่งและงานต่าง ๆ ของเชียงใหม่ รวมทั้งอยู่ในภาพโปสเตอร์ต่าง ๆ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของถิ่นไทยงามไปแล้ว

พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์

ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่างๆ ทุกครั้ง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ และล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้ป่วยไข้ได้ทันที
นอกจากนั้น ยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทาน ซึ่งเป็นพระราชดำริที่ให้ทันตแพทย์อาสาสมัคร ได้เดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟัน แก่เด็กนักเรียนและราษฎรที่อาศัยอยู่ในท้องที่ทุรกันดาร และห่างไกลจากแพทย์ทั่วทุกภาค โดยให้การบริการรักษาโรคฟัน โดยไม่คิดมูลค่าในการแพทย์เคลื่อนที่
สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมวัดทุกแห่ง ซึ่งนับเป็นศูนย์กลางของชุมชนในชนบท โดยจะพระราชทานกล่องยาแก่วัด เพื่อพระภิกษุใช้เมื่อเกิดอาพาธ และเพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎรผู้ป่วยเจ็บในหมู่บ้านนั้นๆ ส่วนในการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมหน่วยทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ที่ออกไปตั้งฐานปฏิบัติการในท้องที่ทุรกันดาร ก็จะพระราชทานสิ่งของที่จำเป็นต่างๆ รวมทั้งยารักษาโรคสำหรับใช้ในหมู่เจ้าหน้าที่ และใช้ในการรักษาพยาบาล และเพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎรในท้องที่ ที่มาขอความช่วยเหลือ อันจะทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปราม และประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติการ ได้มีความเข้าใจอันดีต่อกัน รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ทางด้านหน่วยแพทย์หลวงที่จะต้องตามเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ประทับแรมทุกแห่งนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้มาขอรับการรักษา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใด นอกจากนั้น หน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทาง ไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นผู้แนะนำสถานที่และร่วมเดินทางไปด้วย สำหรับราษฎรผู้เจ็บป่วยรายที่มีอาการหนัก หรือจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจรักษาเพิ่มเติมนั้น ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จพระราชดำเนิน ทำการบันทึกรายชื่อ อาชีพ ที่อยู่ และอาการโดยละเอียด โดยตรวจสอบความถูกต้องกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และมีสำเนาให้รับทราบเพื่อติดต่อประสานงานต่อไป ในการพิจารณาส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อ ตามความเห็นของแพทย์ผู้ทำการตรวจ

พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีว่า การพัมนาการศึกษาของเยาวชนนั้นเป็นพื้นฐานอันสำคัญ ของประเทศชาติ จึงทรงพระกรุราโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้ง มูลนิธิอานันทมหิดล ให้เป็นทุนสำหรับการศึกษาในแขนงวิชาต่าง ๆ เพื่อให้นักศึกาาได้มีทุนออกไปศึกษา หาความรู้ในวิชาการชั้นสูงในประเทศต่าง ๆ โดยไม่มีเงื่อนไขข้อผูกพันแต่ประการใด เพื่อที่ได้นำความรู้นั้น ๆ กลับมาใช้พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป นอกเหนือไปจากนี้แล้ว ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน แบ่งออกเป็น 4 สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์และมนุษยสาสตร์ ทรงก่อตั้งกองทุนนวฤกษ์ ในมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกาาในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ทั้งยังพระราชทานพระราฃทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนริเริ่มในการก่อสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบท สำหรับที่จะสงเคราะห์เด็กยากจนและกำพร้า ให้ได้มีสถานที่สำหรับศึกษาเล่าเรียน โดยอาราธนาพระภิกษุเป็นครูสอนในวิชาสามัญต่าง ๆที่ไม่ได้ขัดต่อพระธรรมวินัย ตลอดจนช่วยอบรมศีลธรรมแก่เด็กนักเรียน ทั้งนี้ เป็นพระราชประสงค์ที่จะให้เด็กนักเรียน ได้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการศึกษาควบคู่กันไป อันจะทำให้เยาวชนของชาตินอกจากจะมีความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังจะทำให้มีจิตใจที่ดี ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม เพื่อที่จะได้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติต่อไปในอนาคต ทหารออกไปปฏิบัติภารกิจในท้องที่ทุรกันดาร ได้ทำประโยชน์ต่อชุมชน และมีส่วนช่วยเหลือประชาชนในด้านการศึกษา โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ทหารจัดสร้างโรงเรียนขึ้นในจังหวัดนครพนม จังหวัดสหลนคร จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปราจีนบุรี และ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนสถานศึกษาสำหรับเยาวชน และยังเป็นการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารที่ไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่นั้น ๆ กับราษฎรเจ้าของท้องที่ เมื่อการก่อสร้างโรงเรียนแล้วเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรียนเหล่านั้น พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า โรงเรียนร่มเกล้า ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา

พระราชกรณียกิจด้านดาวเทียม

ดาวเทียมไทยคมนับว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก้าวสู่ยุคแห่งความล้ำหน้า และได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนองพระราชดำริในเรื่องของการศึกษา คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย เป็นผู้สนองพระราชภารกิจที่โรงเรียนไกลกังวล หัวหินซึ่งขณะนี้ได้พยายามที่จะนำเอาดาวเทียมไทยคมเข้าไปใช้ในกิจการด้านการเรียนการสอน เจตนารมณ์ดังกล่าวเป็นการสนองตอบความต้องการของประชาชน และเป็นการปรับปรุงในเรื่องของการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการจัดการศึกษาใต้ร่มพระบารมีอย่างแท้จริง และที่สำคัญเพื่อเป็นการสนองพระบรมราโชบายทางการศึกษา ในอันที่จะทำให้โรงเรียนไกลกังวลเป็นเครือข่ายและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาไทยคมอย่างแท้จริง กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติ ที่ได้มีพระราชดำริให้มีการพัฒนางานทางระบบวิทยุสื่อสารขึ้นในประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพราะสังคมปัจจุบันนั้น การสื่อสารก็เปรียบเสมือนกับระบบประสาทของร่างกายมนุษย์ ดังนั้นจึงนับได้ว่า พระองค์ท่านนั้นมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงเห็นบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการสื่อสาร